ป.ป.ช. แถลงผลงานการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันการทุจริต ในปีงบประมาณ 2565

Last updated: 26 เม.ย 2565  |  3896 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป.ป.ช. แถลงผลงานการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันการทุจริต ในปีงบประมาณ 2565

ป.ป.ช. แถลงผลงานการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันการทุจริต ในปีงบประมาณ 2565

          เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า การขับเคลื่อนงานด้านป้องกันการทุจริตของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย ควบคู่ไปกับการตอบสนองเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนั้น ในการดำเนินงานการป้องกันการทุจริตจะเริ่มตั้งแต่การเฝ้าระวัง การปลูกฝัง การป้องกัน ตลอดจนการแก้ไข โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ การเสริมสร้างคุณธรรม ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลแก่หน่วยงานภาครัฐ การกำหนดมาตรการ ความเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต ตลอดจนการเฝ้าระวังสถานการณ์การทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565 มีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

1. การเสนอ มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ (มาตรา 32)

1.การเสนอ มาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี

          1.1.ข้อเสนอแนะในการยกระดับคุณธรรม ความโปร่งใส และธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันการทุจริต

          เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

- เร่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้และทักษะ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การป้องกันการทุจริต และการให้บริการสาธารณะ ทางเว็บไซต์ของหน่วยงานให้มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐาน  ที่กำหนด
- ส่งเสริมสนับสนุนและให้คำแนะนำในด้านกระบวนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายจัดตั้ง อปท. แต่ละประเภท
- ขับเคลื่อนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ให้สอดคล้องกับหลักการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นหน้าที่หลักที่ต้องปฏิบัติ
- ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานภาครัฐดำเนินการกำกับติดตามการประเมิน ITA และผลักดันให้หน่วยงานภายใต้กำกับดูแลดำเนินการให้เป็นไปตามแนวทางการประเมิน ITA
- ให้หน่วยงานภาครัฐให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 – 2570 โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมิน ITA แนวทางการประเมิน ITA และเครื่องมือการประเมิน ITA ให้เป็นไปตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด
          1.2 ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
          คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 รับทราบและให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปพิจารณาดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วและให้รายงานผลการดำเนินการให้คณะรัฐมนตรีทราบภายใน 30 วันด้วย
          1.3 มาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ กรณีปัญหาการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าไม้
          คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหา 4 ด้านคือ ด้านการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ด้านการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ ด้านการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกที่ดินของรัฐ และด้านการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินป่าไม้ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
          1.4 ข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินการอนุมัติการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน   (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
          คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการบริหาร       การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) ดำเนินการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการดำเนินการด้านการให้บริการเชื้อเพลิงอากาศยาน (คลังน้ำมัน) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิร่วมกันอย่างเป็นระบบ และให้คณะรัฐมนตรีตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ที่มีมติให้มีผู้ประกอบการคลังน้ำมันนอกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียงรายเดียว และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ที่มีมติให้ผู้ประกอบการคลังน้ำมันเอกชนรายอื่นสามารถสร้างคลังน้ำมันภายนอกเขตสนามบินสุวรรณภูมิ ได้หลายรายมากขึ้น นอกเหนือจากบริษัทเอกชนรายเดียวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์จากการเปิดการแข่งขันด้านราคาและการให้บริการคลังน้ำมันอย่างเป็นธรรมกับความมั่นคงในระบบน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินในท่าอากาศยาน อันเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีมาตรฐานสากลเทียบเท่าท่าอากาศยานนานาประเทศ
          นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการและข้อเสนอแนะฯ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการและข้อเสนอแนะฯ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการ
2. การส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐมีการดำเนินงานอย่างมีคุณธรรม ความโปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และเสริมสร้างการป้องกันการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ โดยการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาลของหน่วยงานเป็นไปได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ได้มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
          2.1 ดำเนินการส่งเสริมและยกระดับธรรมาภิบาลให้กับกลุ่มเป้าหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสยังไม่ผ่านเกณฑ์จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 4,139 หน่วยงาน โดยได้จัดโครงการส่งเสริมธรรมาภิบาลเพื่อยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565  เช่น การพัฒนาและสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินการเพื่อยกระดับผลการประเมิน ITA การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมาภิบาลและให้คำแนะนำปรึกษาในการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การลงพื้นที่ให้คำปรึกษารายหน่วยงานให้กับกลุ่มเป้าหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ 4,139 หน่วยงาน การศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การสร้างแรงจูงใจและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการยกระดับผลการประเมิน ITA
          2.2 การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัดโครงการยกระดับค่าคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาและยกระดับค่าคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ และกิจกรรมลงพื้นที่ในหน่วยงานรัฐ 4 ครั้ง เพื่อดำเนินการให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่หน่วยงานภาครัฐที่ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA ประจำปี 2564
          2.3 การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาคเอกชนและนิติบุคคลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัดโครงการพัฒนาและส่งเสริมบรรษัทภิบาลคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐ กิจกรรมสัมมนาการยกระดับบรรษัทภิบาลคู่สัญญาหน่วยงานของรัฐในระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อน ขยายผลและพัฒนากลไกขับเคลื่อนบรรษัทภิบาลภาคเอกชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อ จัดจ้างภาครัฐที่มีเอกชนเป็นคู่สัญญา
3. การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA)
          ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้ดำเนินการประเมิน ITA ให้กับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ เพื่อให้รับทราบถึงสถานะและปัญหาการดำเนินงานในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส และการป้องกันการทุจริต ซึ่งในแง่ของการมีส่วนร่วมต่อการประเมิน ITA จำแนกได้ใน 2 มิติ ดังนี้
          1) มิติของหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินฯ มี 8,303 หน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานธุรการ ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          2) มิติของการมีส่วนร่วมในการประเมินฯ ที่มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วม ในการประเมินผ่านการตอบแบบวัดการรับรู้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมามีถึง 1,331,588 คน
          ทั้งนี้ การประเมิน ITA ถูกกำหนดเป็นค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศฯ อีกด้วย โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ ต้องมีผลการประเมิน ITA ผ่านเกณฑ์ 85 คะแนนขึ้นไป เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด (6,642 หน่วยงาน)
          ในช่วงปีที่ผ่านมา การประเมิน ITA ได้ถูกกล่าวถึงทั้งในเวทีการประชุมระดับนานาชาติ อาทิ การประชุมขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ในงาน 2021 OECD Global Anti-Corruption & Integrity Forum จึงกล่าวได้ว่าการประเมิน ITA เป็นเครื่องมือและมาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสและการป้องกันการทุจริตที่ได้รับการยอมรับแล้วในระดับสากล
          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจและเพิ่มทักษะในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ และได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส และการป้องกันการทุจริตดีขึ้นเป็นลำดับ ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินที่มีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนี้
 
          ผลของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและการให้ความยอมรับทั้งจากภายในประเทศและจากองค์การระหว่างประเทศ ส่งผลหน่วยงานภาครัฐได้มีการริเริ่มจัดทำโครงการและขยายผลต่อยอดการประเมิน ITA ลงไปในระดับส่วนงานย่อยต่าง ๆ ภายในองค์กรของตนเอง
          สำหรับการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้มีการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มกระบวนการประเมิน ITA ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ที่ผ่านมาและในปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการจัดเก็บข้อมูลตามเครื่องมือที่กำหนด โดยแบ่งเป็น 3 เครื่องมือ ดังนี้
          1) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (แบบวัด IIT) : บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานทั่วประเทศที่ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัด IIT  ได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 โดยแต่ละหน่วยงานได้มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการตอบแบบวัด IIT ให้แก่บุคลากรภายในเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัด IIT แล้วเป็นจำนวน 368,529 ราย
          2) แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (แบบวัด EIT) : ประชาชนหรือผู้ที่เคยติดต่อ/รับบริการจากหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศในปี 2565 นี้ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินหน่วยงานภาครัฐที่ท่านเคยติดต่อหรือรับบริการ 2 ช่องทาง ดังนี้
          ช่องทางที่ 1 สามารถเข้าประเมินหน่วยงานด้วยตนเองได้ที่เว็บไซต์ itas.nacc.go.th หรือ Application ITAS โดยพิมพ์ค้นหาชื่อหน่วยงานที่ท่านเคยติดต่อหรือรับบริการแล้วประเมินได้เลย
          ช่องทางที่ 2 สำนักงาน ป.ป.ช. จะดำเนินการสัมภาษณ์ประชาชนที่เคยติดต่อหรือรับบริการ     จากหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ผ่านทางโทรศัพท์และการลงพื้นที่ภาคสนาม
          สำหรับจำนวนของประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ          ในปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีจำนวนผู้ตอบแบบวัด EIT แล้วเป็นจำนวนถึง 471,654 ราย
          3) แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน (แบบวัด OIT) : หน่วยงานภาครัฐ 8,303 แห่ง โดยปัจจุบัน (11 เม.ย. 65) มีหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลแล้วเสร็จ จำนวน 96 หน่วยงาน ส่วนอีก 8,207 หน่วยงาน อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และต้องส่งให้ผู้บริหารของตนเองพิจารณารับรองและให้ความเห็นชอบก่อนเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ทั้งนี้ ต้องเสร็จตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ภายในวันที่ 30 เมษายน 2565 นี้
          ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทย รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามามีส่วนร่วม         ในการพัฒนาคุณธรรม คุณภาพ และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานทั่วประเทศ   ผ่านการประเมิน ITA โดยสามารถร่วมประเมินได้ที่เว็บไซต์ itas.nacc.go.th หรือทาง Application ITAS ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของท่านไปใช้ในการปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีความโปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป
2. มาตรา 33 : การสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
          1) การส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตโดยผ่านการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา 5 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลักสูตรอุดมศึกษา หลักสูตรกลุ่มทหารและตำรวจ หลักสูตรวิทยากร ป.ป.ช./บุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และหลักสูตรโค้ช มีการดำเนินงาน ดังนี้
          (1) การลงพื้นที่เพื่อกำกับ ติดตาม การนำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปใช้ในสถานศึกษาและรับทราบปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะ ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ๆ
          (2) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการบูรณาการความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยมีการตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา
          (3) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการเยาวชนไทย "ไม่ลอกการบ้านไม่ลอกข้อสอบ" เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การดำเนินการจัดกิจกรรม STRONG CAMP เยาวชนไทย "ไม่ลอกการบ้าน ไม่ลอกข้อสอบ" และเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชน STRONG IDOL ทั่วประเทศ
          (4) การเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education Platform) โดยจัดให้มีระบบแพลตฟอร์มต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education Platform) ในรูปแบบ Web Application ในลักษณะที่เป็น E – Learning ซึ่งสามารถเข้ามาเรียนรู้เนื้อหาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาตลอดเวลา และนำองค์ความรู้ไปขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          2) การส่งเสริมให้ประชาชนมีวัฒนธรรม ค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริต ดังนี้
          (1) การส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการทุจริต ผ่านกิจกรรมของชมรม    STRONG - จิตพอเพียงต้านทุจริต ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 80,000 คน ในปี 2565 โดยสนับสนุนให้เครือข่ายชมรม STRONG ร่วมแจ้งเบาะแสการทุจริต และมีการตอบสนองผ่านการดำเนินการของ ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center - CDC) ที่ประสานส่งเรื่องต่อให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เกิดเป็นกระบวนการป้องปรามการทุจริตที่ชัดเจนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ของชมรม STRONG ขึ้นใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตในทุกด้าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับสมาชิกเยาวชนในชมรม STRONG ให้ยกระดับเป็นชมรมเยาวชน STRONG ประจำจังหวัด เพื่อมีเวทีแสดงศักยภาพ ผสานพลังร่วมกับชมรม STRONG ภาคประชาชนได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตต่อไป
          (2) ข้อมูลการแจ้งเบาะแสของชมรม STRONG ที่เรียกว่า “การปักหมุด” ได้นำมาต่อยอดพัฒนาเป็น “แผนที่พื้นที่เสี่ยงการทุจริต (Corruption Risk Mapping)” ที่แสดงแนวโน้มสถานการณ์การทุจริตของประเทศไทย ระบุถึงประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตและพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดการทุจริตสูง โดยข้อมูลจากการปักหมุดได้นำมาใช้ร่วมกับฐานข้อมูลอื่นของสำนักงาน ป.ป.ช. อาทิ สถิติคดี และผลการประเมิน ITA ของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้สามารถวางแผนการดำเนินโครงการด้านป้องกันและป้องปรามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          (3) โครงการต้านและลดทุจริต เฉพาะกรณีพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต หรือ โครงการ TaC Team ซึ่งเป็นการพัฒนางานป้องกันเชิงรุกที่ให้ยกระดับงานป้องกัน “ป้องนำปราบ” โดยรวมพลังศักยภาพทั้งภายในสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานภายนอกขับเคลื่อนการป้องกันเชิงรุกจากประเด็นความเสี่ยงที่ระบุได้ เข้าระงับยับยั้ง ให้คำแนะนำ เพื่อปรับปรุงแก้ไขก่อนเกิดเป็นคดีทุจริต อาทิ ความเสี่ยงต่อการทุจริตในการบริหารจัดการโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และสกลนคร การบุกรุกทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และชายทะเลที่อุทยานแห่งชาติเกาะช้าง จังหวัดตราด การประกอบกิจการดูดทรายในลำน้ำปิงและการล่วงล้ำลำน้ำแม่สาที่จังหวัดเชียงใหม่ และประเด็นความเสี่ยงการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และกรุงเทพมหานคร
          (4) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคองค์กร ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้แนวคิด “STRONG - องค์กรพอเพียงต้านทุจริต” ให้เกิดการรวมตัวกันของบุคลากรเพื่อเฝ้าระวังการทุจริตจากภายใน ปัจจุบันมี 46 หน่วยงานร่วมเป็น STRONG - องค์กร คือ ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ 9 แห่ง ภาคเอกชน 3 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 21 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษา 13 แห่ง
          (5) การขับเคลื่อนกลไกทางศาสนาร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมหาเถรสมาคมได้เมตตามีมติ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 เห็นชอบให้พระสังฆาธิการทุกระดับ ตั้งแต่ ระดับภาค จังหวัด อำเภอ ตำบล และระดับเจ้าอาวาส ร่วมเผยแผ่เนื้อหาหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาที่ได้ประยุกต์เข้ากับหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาแก่ประชาชน
          3) การขับเคลื่อนแผนงานด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ภายใต้แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นที่ 21 การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เป้าหมายและตัวชี้วัดที่ 1 ได้กำหนดเป้าหมาย คือ ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2565 คือ
          การสำรวจพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริตของเด็กและเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 12 - 24 ปี ทั่วประเทศ จำนวน 46,800 กลุ่มตัวอย่าง สำรวจการกระทำและการพูด 4 ประเด็น คือ 1) พูดความจริง ไม่ลักขโมย ไม่เอาเปรียบ ไม่ฉวยโอกาส (สัตย์จริง โปร่งใส) 2) การแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม 3) การปฏิบัติต่อผู้อื่นที่ไม่แตกต่างกัน (เสมอภาค ยุติธรรม) 4) ความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น การทำตามระเบียบวินัย (ความรับผิดชอบต่อหน้าที่)
          การสำรวจวัฒนธรรม ค่านิยมสุจริต มีทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบของประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป สำรวจ 2 ประเด็นคือ 1) วัฒนธรรม ค่านิยมสุจริตวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคมที่ให้คุณค่าต่อความซื่อสัตย์สุจริต ความโปร่งใส การแยกแยะประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ 2) ทัศนคติและพฤติกรรมในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ความรู้สึกนึกคิด การแสดงออก และการมีบทบาทจับตามองและแจ้งเบาะแสเมื่อพบเห็นหรือล่วงรู้ว่าจะมีการทุจริต รวมทั้งการไม่กระทำหรือร่วมกระทำการทุจริตทุกรูปแบบ
3. การดำเนินการกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐ อันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่ามีการทุจริต (มาตรา 35)
การศึกษากรณีที่เห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยฯ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ 12 เรื่อง ดังนี้
          1. การเฝ้าระวังกรณีกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง"
          2. การเฝ้าระวังการกำกับดูแลและตรวจสอบโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
          3. การศึกษาเพื่อเฝ้าระวังการทุจริต กรณีการจัดซื้อจัดจ้างตามบัญชีนวัตกรรมไทย
          4. การเฝ้าระวังการทุจริตโครงการจัดหาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ (Water Purifying Unit) รายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น กรณีเหตุอันควรสงสัย ว่ามีการดำเนินการที่อาจจะนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริตของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4
          5. การศึกษาโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
          6. การป้องกันการทุจริตในการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
          7. การเฝ้าระวัง กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการประปาส่วนภูมิภาค คัดค้านการแก้ไขสัญญาให้สิทธิดำเนินการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา กับบริษัท ประปาปทุมธานี จำกัด
          8. การตรวจสอบข้อมูลกรณีถนนกำแพงเพชร 6 เขตดอนเมือง เสียหาย
          9. การติดตามและวิเคราะห์ข่าวกรณีบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ร้องขอความเป็นธรรมประมูลท่อส่งน้ำ
          10. รายงานผลการตรวจสอบโครงการทัวร์เที่ยวไทย
          11. การศึกษาการดำเนินงานเบิกจ่ายและการบริหารงาน “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ”
          12. การศึกษาความผิดปกติในการดำเนิน โครงการถนนกลางทุ่งนาของกรมชลประทาน ซึ่งเกิดขึ้นในจังหวัดยโสธร
4. การดำเนินการเพื่อการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ของประเทศไทย
          คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เห็นความสำคัญของการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต และได้ผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) ที่มีเป้าประสงค์ให้ได้คะแนน CPI ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะ เพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาเสนอข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560) ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2561) และระยะที่ 3 (พ.ศ. 2563) ต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
          โดยข้อเสนอแนะเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ระยะที่ 3 ประกอบด้วย ข้อเสนอแนะขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ จำนวน 7 ข้อ และข้อเสนอแนะจากการวิเคราะห์  9 แหล่งข้อมูล 5 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริต ประเด็นสินบน ประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ประเด็นการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประเด็นความโปร่งใสในระบบงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
 
ผลการขับเคลื่อน ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center - CDC)
เดือนมกราคม – เมษายน 2565
มีเรื่องเข้ามาที่ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (CDC) จำนวน 102 เรื่อง โดยแบ่งเป็น 5 เขตพื้นที่ แบ่งออกเป็นเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ดังนี้
          1. ภาคกลาง จำนวน 23 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ภาค 7 และกรุงเทพมหานคร
          2. ภาคเหนือ จำนวน 16 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 และ ภาค 6
          3. ภาคใต้ จำนวน 26 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และ ภาค 9
          4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 30 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 และ ภาค 4
          5. ภาคตะวันออก จำนวน 7 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 2
โดยมีแหล่งที่มา 3 ส่วน ได้แก่
          1. ข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด        จำนวน    5 เรื่อง
          2. ชมรม STRONG ต้านทุจริต                                              จำนวน  36 เรื่อง
          3. สื่อมวลชน / สื่อสังคมออนไลน์                                        จำนวน   61 เรื่อง
ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้เข้าไปดำเนินการป้องกัน ป้องปรามการทุจริต ในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว  จำนวน 23 เรื่อง โดยมีตัวอย่าง ดังนี้
          1. กรณีประชาชนตั้งข้อสงสัย โครงการทางลาดลำเลียงผู้โดยสารทุพพลภาพขึ้น - ลง อากาศยาน ณ สนามบินน่านนคร จังหวัดน่าน โดยระบุว่ามีการซื้อแล้วแต่ไม่ได้นำมาใช้งาน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดน่าน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ทางลาดลำเลียงผู้โดยสารฯ ดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของท่าอากาศยานและมีการนำมาใช้งานตามปกติ ซึ่งขั้นตอนการใช้งานนั้นสายการบินจะต้องประสานมายังท่าอากาศยานเพื่อแจ้งความประสงค์ขอใช้งาน และจากการทดสอบการใช้งานทางลาดลำเลียงผู้โดยสารฯ ดังกล่าว พบว่า สามารถใช้งานได้ตามปกติ
          2. โครงการจ้างก่อสร้างถนนลาดยางผิวทางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สาย พจ.ถ.18-025 DK2 บ้านแหลมสน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ระยะเวลาผ่านมาเพียง 1 เดือน พบผิวถนนแตกเป็นแนวยาว ซึ่งจากการลงพื้นที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร พบว่า ถนนสายดังกล่าว ยังอยู่ในระยะประกันสัญญา โดยผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขให้ถนนอยู่ในสภาพที่ไม่ชำรุดเสียหาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้รับจ้างจะเข้าดำเนินการซ่อมแซมโดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากแขวงทางหลวงพิจิตรร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดแนวทางในการซ่อมแซมถนนให้เป็นไปตามหลักมาตรฐาน สามารถใช้งานได้โดยไม่เกิดการชำรุดเสียหายอีก ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร จะดำเนินการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของภารกิจด้านการปราบปรามการทุจริตต่อไป
          3. เครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตภาคประชาชน Facebook เพจ คิด ทำ ทิ้ง เผยแพร่ข้อมูลโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 - 17 กันยายน 2563 แต่ดูจากความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว เกรงว่าปีนี้จะยังไม่ได้ใช้งาน ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช งบประมาณ จำนวน 17,970,000 บาท อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินที่ไม่ชัดเจน และมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้าง จึงทำให้ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง เริ่มงานก่อสร้างได้ อีกทั้ง ระหว่างการก่อสร้างผู้รับจ้างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินการก่อสร้างล่าช้าและมีการขอขยายระยะเวลาในสัญญาจ้าง ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แนะนำให้ผู้รับผิดชอบโครงการออกประกาศชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบ และเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด
          4. กรณีที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีการตัดยอดภูเขาสูงชันทั้งลูก ออกโฉนด ทำทางขึ้นเป็นที่ส่วนบุคคล ติดป้ายห้ามเข้า และให้นายหน้าประกาศขายที่ดินทาง Facebook โดยเหตุเกิดในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ทราบและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พื้นที่เกิดเหตุตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พื้นที่มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีการไถที่ดินเป็นทางรถยนต์เพื่อขึ้นไปบนยอดเขา และบนยอดเขามีการขุดดินและปรับเกลี่ยดินเป็นบริเวณกว้าง โดยที่ดินดังกล่าวเป็นที่มีเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำนวนเนื้อที่ 24 ไร่ 85 ตารางวา
          จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศโดยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) พบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าน้ำมะและป่าสบรวก” แต่กลับมีหลักฐานหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งออกจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และเจ้าของที่ดินเคยขอรังวัด เพื่อออกโฉนดที่ดินแล้ว แต่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากที่ตั้งของที่ดินไม่ตรงกับเอกสารสิทธิที่ถือครองอยู่โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว อาจดำเนินการโดยมิชอบ
          สำหรับกรณีการขุดดินและปรับเกลี่ยดิน พบว่า มีการดำเนินการหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้ออกใบรับแจ้งการขุดดินหรือถมดิน (แบบ ขถด.2) ขุดดินมีความลึกเฉลี่ย 17.70 เมตร พื้นที่ 12,928 ตารางเมตร กำหนดแล้วเสร็จภายใน 365 วัน โดยจะเริ่มขุดดินในวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงเป็นที่น่าสงสัยว่าเพิ่งมีการขุดดินและปรับเกลี่ยดินได้ไม่นานเนื่องจากร่องรอยยังใหม่ อีกทั้งจากการคำนวณขนาดพื้นที่ขุดดินของเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ผ่านระบบภาพถ่ายดาวเทียม ในปี 2564 กลับพบว่ามีปริมาณพื้นที่ขุดดินประมาณ 34,348 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าที่เคยได้รับใบแจ้งจากเทศบาลตำบลเวียง กรณีนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบให้ดำเนินการขุดดินเป็นไปตามใบรับแจ้งตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ. 2543 โดยประเด็นดังกล่าวรวมถึงกรณีการประกาศขายที่ดินทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ติดตามประสานข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมและจะรวบรวมเสนอให้สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้