อธิบดีศาลอาญาทุจริตฯ เผย 6 ปี ทำคดี 1,869 คดี พบปัญหาทั้ง ‘ผู้เสียหาย - เจ้าหน้าที่รัฐ’ ชี้ 6 จุดบกพร่อง และปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกแจ้งความเอาผิด

Last updated: 1 ก.ย. 2565  |  3432 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อธิบดีศาลอาญาทุจริตฯ เผย 6 ปี ทำคดี 1,869 คดี พบปัญหาทั้ง ‘ผู้เสียหาย - เจ้าหน้าที่รัฐ’ ชี้ 6 จุดบกพร่อง และปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกแจ้งความเอาผิด

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การประสานความร่วมมือด้านการยุติธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบบนเส้นทางการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ”

          วันที่ 1 กันยายน 2565 นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การประสานความร่วมมือด้านการยุติธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบบนเส้นทางการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ” โดยมีนายวีระพงศ์ สุดาวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นผู้กล่าวรายงาน ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมรามา การ์เด้นส์  ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

          นายวีระพงศ์ สุดาวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ ‘การประสานความร่วมมือด้าน การยุติธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบบน เส้นทางการสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ’ ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางตอนหนึ่งว่า ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบต้องแก้จริงจังและมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการ โดยศาลมีหน้าที่ตรวจสิบความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำความผิดต่อตำแหน่งโดยปัจจุบันกระบวนการทางศาลในประเทศไทยมี 2 ระบบคือ ระบบไต่สวนและระบบกล่าวหา ซึ่งในกรณีที่เป็นคดีความทางอาญามักจะใช้ระบบไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในระบบไต่สวน ศาลมีหน้าที่ไต่สวนโจทก์และจำเลย ในฝั่งโจทก์ ศาลจะซักถามถึงพยานหลักฐานที่เอามากล่าวหาจำเลย ซึ่งในจุดนี้มีหลายคนยังไม่เข้าใจว่า ตนมาในฐานะพยานโจทก์ทำไมถูกซักเหมือนเป็นจำเลย จึงอยากแจ้งให้ทราบว่า หากใช้ระบบไต่สวนแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลย ย่อมถูกศาลซักถามได้ทั้งนั้น

“สรุปคือ ศาลมีหน้าที่ไต่สวนและแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อนำไปสู่ข้อเท็จจริงในคดีความ แล้วตัดสินคดีเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ของคู่ความ โดยระบบนี้จะใช้มากในคดีทางอาญา เช่น คดีความของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ค้ามนุษย์ หรือสิ่งที่เกี่ยวพันกับนโยบายแห่งรัฐ จะถูกออกแบบให้ใช้ระบบนี้ เพื่อให้ศาลเป็นผู้ค้นหาความจริง” นายวีรพงศ์ กล่าว

          เมื่อศาลมีหน้าที่ไต่สวนคู่ความทั้งโจทก์และจำเลย คู่ความทั้งสองจึงมีหน้าที่ไปเสาะหาพยานหลักฐานต่างๆ นำมาสนับสนุนข้อเท็จจริงของศาล และเสนอเป็นข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อศาลด้วย หากรู้ถึงพยานหลักฐานที่ควรนำมาประกอบสำนวนคดี ก็ควรจะหามาประกอบไว้ ศาลไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะรู้ทุกเรื่องทุกราว ต้องร่วมมือช่วยเหลือ เพื่อให้ความจริงปรากฎ ซึ่งกฎเกณฑ์และกติกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีทางแพ่งและอาญาจะกำหนดเงื่อนไขต่างๆเต็มไปหมดเลย ล้วนแล้วต้องทำตามเงื่อนไขให้ครบ ไม่มียืดหยุ่นให้ ถ้าคนไม่มีความรู้ทางกฎหมายก็มีโอกาสแพ้สูง ดังนั้น การให้คำให้การที่ไม่ชัดเจน หรือการร่างคำฟ้องที่ไม่ชัดเจน จะถูกศาลสั่งให้แก้ไข ไม่มีการยกประโยชน์ให้ใครว่าให้การไม่ชัด ทำให้ไม่เป็นประเด็นก็ยกกันไป ในส่วนการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้มีอำนาจฟ้องคดีมี 5 กลุ่ม ได้แก่

          1. อัยการสูงสุด สำนวนการไต่สวนมาจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนมาแล้ว

          2. พนักงานอัยการ สำนวนการไต่สวนมาจากพนักงานสอบสวน หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

          3. ประธาน ป.ป.ช. สำนวนการไต่สวนมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ในกรณีฟ้องร้องไปที่อัยการสูงสุดเพียงผู้เดียว

          4. คณะกรรมการ ป.ป.ช. สำนวนการไต่สวนมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใช้ในกรณีตั้งคณะกรรมการร่วมกับพนักงานอัยการ แต่ไม่อาจหาข้อยุติได้

          5. ผู้เสียหาย ซึ่งสำนวนการสอบสวนยังไม่ผ่านหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบใด และในกรณีนี้ยังสามารถฟ้องร้องเอาผิดองค์กรอิสระกับศาลอาญาคดีทุจริตได้เองด้วย

โดยการดำเนินคดีสามารถแบ่งผู้ถูกฟ้องคดีได้ 3 กลุ่ม คือ 1. เจ้าหน้าที่รัฐ 2.บุคคลทั่วไป และ 3. นิติบุคคล หมายความรวมถึงเอกชน

          นายวีระพงศ์ สุดาวงศ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กรณีผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องมี 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1.ยื่นคำฟ้อง 2.ศาลจะรับไว้พิจารณา เพื่อตรวจฟ้อง โดยในขั้นตอนนี้คำฟ้องต้องชอบด้วย มาตรา 15 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 2559 อันประกอบด้วย ต้องทำเป็นหนังสือ, มีข้อความครบถ้วนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158, มีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ, ระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำผิด และชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอ 3.ศาลจะมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีตรวจคำฟ้องและทำความเห็นเสนอต่อศาล สิ่งที่เจ้าพนักงานจะพิจารณาจะประกอบด้วยประเด็นต่างๆดังนี้ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือไม่ เช่น คดีผู้กำกับโจ้ เหตุเกิดในท้องที่ศาลอาญาทุจริตฯภาค 6 แล้วช่วงหลังโอนมาอยู่กับกองบังคับการปราบปราม จึงเป็นเหตุเข้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 อนุ 1 เพราะเหตุสอบสวนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นต้น, คดีขาดอายุความหรือยัง, คดีขาดข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่จำเป็นประกอบการตรวจฟ้องหรือไม่, คำฟ้องยังมีข้อบกพร่อง หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนดหรือไม่, องค์ประกอบความผิดครบถ้วนหรือไม่ และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่

พบปัญหาผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ 6 ประการ

          ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 – 27 กรกฎาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคดีความรวมแล้ว 1,869 คดี ตัดสินถึงที่สุดแล้ว 952 คดี อยู่ระหว่างอุทธรณ์และฎีกา 237 คดี ในจำนวนคดีทั้งหมด มีผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องเอง 1,189 คดี คิดเป็นสัดส่วน 63.62% รองลงมาเป็นพนักงานอัยการ 418 คดี คิดเป็นสัดส่วน 22.36% และอัยการสูงสุด 218 คดี คิดเป็นสัดส่วน 11.66%

และจากการที่มีผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องร้องเองจำนวนมาก ทำให้ปัญหาที่ตามมาก็มีมากเช่นกัน ประกอบด้วย

          1.ผู้เสียหายไม่รู้กฎหมาย ไม่มีทนายความช่วยเหลือในการดำเนินคดี เป็นผลให้การร่างคำฟ้องไม่ถูกต้องและไม่ครบองค์ประกอบความผิด 2.ผู้เสียหายฟ้องกลั่นแกล้ง พบมากในคดีความที่เกิดจากการขอใบอนุญาตแล้วไม่ได้รับการอนุมัติ จึงมีการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นมา ซึ่งส่วนมากมักจะจบที่การยกฟ้อง 3.ผู้เสียหายฟ้องคดีเพราะเข้าใจผิด 4.ผู้เสียหายฟ้องคดีแก้เกี้ยว กดดันต่อรอง หวังแทรกแซงการสอบสวนหรือไต่สวน เช่น กรณีที่ผู้ถูกดำเนินคดีถูกแจ้งข้อกล่าวหา แล้วใช้ช่องทางการฟ้องศาลอาญาทุจริตฯกลับเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น และ5.ผู้เสียหายฟ้องคดีหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้ เช่น มีการสมยอมกันให้สิทธิ์นำคดีอาญามาฟ้องระงับไป หรือยืมมือศาลเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานไปใช้ในคดีอื่น

ยกเครื่องกระบวนการพิจารณาคดี คุ้มครอง ‘ผู้เสียหาย-เจ้าหน้าที่รัฐ’

          นายวีระพงศ์ สุดาวงศ์ ระบุต่อว่า จากปัญหา 5 ประการ นำมาสู่การปรับปรุงแนวทางในการพิจารณาคดี เพื่อแก้ปัญหาใน 2 มิติคือ มิติที่ 1 ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมกระทำผิด สามารถดำเนินคดีได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่มีการยกฟ้อง และจะไม่มีการตัดสินแพ้คดีด้วยเทคนิคทางกฎหมาย โดยยกมาตรา 15 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 2559 ที่ระบุว่า ‘กรณีที่ศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้อง ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง’ และมิติที่ 2 คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจถูกลั่นแกล้ง

สำหรับปัญหาทั้ง 2 มิติ สามารถยึดตัวกฎหมาย 2 ฉบับให้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พ.ร.บ.พิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 2559 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ความว่า

          “คำฟ้องต้องทำเป็นหนังสือมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่า กระทำความผิดพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้”

ประกอบมาตรา 15 วรรคสาม ความว่า

          "กรณีที่ศาลเห็นว่าฟ้องไม่ถูกต้อง ให้ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง”

และข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีการดาเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ 2559แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2560 ข้อ 16 วรรคหนึ่ง ความว่า

          “เมื่อโจทก์ยื่นฟ้อง หากศาลเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นแห่งคดี การตรวจสอบกรณีการริบทรัพย์สิน หรือมีหนังสือเรียกให้หน่วยงานหรือบุคคลใดมาให้ข้อมูลหรือจัดส่งพยานหลักฐาน รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณาและพิพากษาคดี”

          ประกอบกับศาลจะมีบทบาทเชิงรุกในการค้นหาความจริงในเรื่องการแสวงหาพยานหลักฐาน และการรับฟังและวินิจฉัยพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงตรงตามความจริง ย่อมส่งผลให้สามารถปรับบทกฎหมายได้อย่างแม่นยำและชี้ขาดคดีได้อย่างถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งผลจากการค้นหาความจริงย่อมทำให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ง่าย, กระบวนการทำงานและกลไกการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ, มีต้นทุนในการดำเนินคดีไม่สูงเกินไป, การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว, อำนวยความยุติธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ประจักษ์ และลดความเหลื่อมล้ำ ทุกฝ่ายมีความสำคัญอย่างเสมอภาคกัน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้