รัฐสภามีมติให้การเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ครั้งที่ 2 “กระทำไม่ได้”

Last updated: 19 ก.ค. 2566  |  2860 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รัฐสภามีมติให้การเสนอชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ครั้งที่ 2 “กระทำไม่ได้”

เลือกนายกฯ : เส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาลของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อที่ประชุมรัฐสภามีมติให้การเสนอชื่อของเขาเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 "กระทำไม่ได้"

          การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มต้นขึ้นเวลา 9.30 น. ของวันนี้ (19 กรกฎาคม 2566) โดยที่นายสุทิน คลังแสง พรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพียงผู้เดียว จากนั้นตลอดทั้งวันกว่า 7 ชั่วโมง ส.ส. และ ส.ว. ได้มีการอภิปรายว่าจะสามารถนำชื่อของนายพิธาขึ้นมาโหวตซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ได้หรือไม่

ในทางกฎหมาย ได้เกิดข้อถกเถียงกันว่าการนำชื่อของนายพิธามาให้รัฐสภาลงมติอีกครั้ง ถือเป็น "ญัตติ" และผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 หรือไม่

สำหรับข้อบังคับการประชุม ข้อ 41 ระบุว่า “หากญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ยังมิได้มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป”

ในที่สุด การอภิปรายยุติลงเวลา 17.00 น. โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเอง และให้ที่ประชุมรัฐสภาตัดสินด้วยการลงมติ

ที่ประชุมรัฐสภามีมติ 394 ต่อ 312 ว่า การเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ "กระทำไม่ได้” เพราะเป็นการขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41 ทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธาให้สมาชิกรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ได้ในสมัยประชุมนี้ โดยมีสมาชิกงดออกเสียง 8 คน และไม่ลงคะแนน 1 คน

การขอมติที่ประชุมรัฐสภา เป็นการดำเนินการตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151 ซึ่งต้องอาศัยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาในการชี้ขาด

นายวันมูหะมัดนอร์ แจ้งว่า เนื่องจากในขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา มีมติให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นจำนวนสมาชิกกึ่งหนึ่งของที่ประชุมทั้งสองสภาในวันนี้คือ 375 เสียง จากคะแนนทั้งหมด 748 เสียง จึงถือว่าที่ประชุมมีมติเกินกึ่งหนึ่ง

อะไรคือ เหตุผลทั้ง 2 ฝ่ายในการอภิปราย 7 ชั่วโมง

การอภิปรายในช่วงแรกเป็นไปอย่างดุเดือด เนื่องจากมีความเห็นขัดแย้งระหว่างสมาชิกรัฐสภาในส่วนการตีความว่า การเสนอข้อพิจารณาบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดนั้น ถือว่าเป็นญัตติหรือไม่ และการเสนอชื่อนายพิธาซ้ำจะถือว่าเป็นการเสนอญัตติซ้ำและขัดต่อข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 หรือไม่

ในช่วงการประชุมก่อนเข้าสู่การอภิปรายดังกล่าว นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งลุกขึ้นประท้วงคัดค้านว่าการเสนอชื่อนายพิธานั้นผิดข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 41 ซึ่งระบุว่า "ญัตติใดซึ่งตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติซึ่งยังไม่มีการลงมติหรือญัตติที่ประธานสภาอนุญาต ในเมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป"

เขาอธิบายว่า หากพิจารณาตามข้อบังคับดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าญัตติพิจารณาให้ความเห็นชอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้ตกไปแล้ว และเสนอว่าน่าจะเป็นการขัดต่อข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา

ทว่า ฝ่าย 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มองว่า การเสนอข้อพิจารณาบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่ใช่ญัตติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ที่ระบุว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้..."

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ที่ประชุมตีความข้อบังคับ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 151 แต่กรณีนี้ที่ประชุมยังไม่รับรอง

พอเข้ามาอยู่ในช่วงการอภิปราย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จากพรรคก้าวไกล ระบุว่า ควรตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กรณีตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของนายเรวัต วิศรุตเวช เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 ไม่ได้รับความเห็นชอบในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่มีคณะกรรมการสรรหาซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิได้ส่งเรื่องให้พิจารณาอีกครั้งในวันที่ 7 กรกฎาคม 2559

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถทำได้จะต้องมีกฎหมายกำหนดไม่ให้เสนอซ้ำ หรือมีการบัญญัติข้อห้ามเอาไว้ อย่างเช่นในกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น


นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้อยู่ในหมวดเดียวกันกับหมวด 4 การบังคับข้อ 41 จึงทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่าสามารถเสนอชื่อได้

"เราไม่อาจตีความที่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่อาจตีความในทางที่จะเอาเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาที่อาจจะประกอบด้วยผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่มาหักล้างเจตนาของประชาชนที่แสดงออกด้วยการเลือกตั้ง" นายจาตุรงค์ กล่าว

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวอภิปรายว่า ไม่มีเหตุผลจะต้องตีความตามข้อ 151 ในรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ได้กำหนดไว้จริงว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีทำได้กี่ครั้ง

แต่ในมาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่าแต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 ชื่อ จะได้พิจารณา 3 ครั้ง เพราะแต่ละคนจะถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยกตัวอย่างกรณีพรรคเพื่อไทยที่เสนอรายชื่อ 3 ชื่อ แต่ละชื่อสามารถถูกเสนอได้เพียงครั้งเดียว

"ข้อเสนอให้พิจารณาซ้ำ ถูกข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่กำหนดคือ ข้อ 41" นายเสรี กล่าว


ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง "พิธา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

ในขณะที่ที่ประชุมรัฐสภากำลังถกเถียงกันว่าจะโหวตนายพิธา เป็นนายกฯ อีกครั้งได้หรือไม่ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ จากปมถือหุ้น บมจ. ไอทีวี เมื่อเวลา 9.30 น. เช่นกัน


ต่อมาเวลาประมาณ 11.45 น. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ให้คำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ผู้ร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจจะก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้


นอกจากนี้ยังมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย


คดีนี้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ร้อง ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะออกเอกสารข่าวแจ้งมติศาลรัฐธรรมนูญ


ศาลรัฐธรรมนูญยังให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง


กิตติศักดิ์-วิโรจน์ ปะทะคารมเดือดกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติคดีหุ้นไอทีวี "พิธา"

ต่อมาเมื่อสมาชิกรัฐสภาเริ่มรับทราบมติศาลรัฐธรรมนูญรับ "คดีหุ้นไอทีวี" ของนายพิธา ไว้วินิจฉัย ทั้งจากเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญ และการรายงานข่าวของสื่อสำนักต่าง ๆ

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา จึงลุกขึ้นแจ้งต่อที่ประชุมในเวลา 12.05 น. ว่า ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป ขอให้ท่านประธานพิจารณาสักนิดว่าขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีผลบังคับแล้ว สั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยุติการปฏิบัติหน้าที่


ในขณะที่นายกิตติศักดิ์ ก้มหน้าอ่านข้อความจากสมาร์ทโฟน และยังพูดไม่จบ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นประท้วง ทำให้นายกิตติศักดิ์กล่าวสวนว่า “อย่าใจร้อนนะ”

นายวิโรจน์กล่าวว่า “ระเบียบราชการก็คงต้องรอหนังสือราชการมาอย่างเป็นทางการก่อน ไม่ต้องแสดงความกระเหี้ยนกระหือรือขนาดนั้น ทำไมอยากจะเข้าวัดที่พิจิตรมากเลยหรือ”

สุดท้ายนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ที่เพิ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานที่ประชุม จึงต้องรีบไกล่เกลี่ย โดยบอกว่าขอให้หยุดเท่านี้อย่าทะเลาะกันเลย

วาทะส่งท้ายกลางสภาจาก "พิธา"

จากนั้นบรรยากาศในห้องประชุมก็กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยประธานเปิดห้ ส.ส. และ ส.ว. อภิปรายก่อนลงมติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 151

เวลา 14.43 น. แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลในวัย 42 ปี ได้ลุกขึ้นกลางสภา พร้อมกล่าวว่า ณ ปัจจุบันนี้มีเอกสารศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะฉะนั้นจึงขออนุญาตพูดกับท่านประธานว่ารับทราบคำสั่ง และจะปฏิบัติตามคำสั่งจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น

ขอใช้โอกาสนี้อำลาท่านประธาน จนกว่าเราจะพบกันใหม่ และขอฝากเพื่อน ๆ สมาชิกในการใช้รัฐสภาในการดูแลพี่น้องประชาชน ผมคิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้วครับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม และถ้าประชาชนชนะมาได้แล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง แม้ผมไม่ได้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ก็ขอให้เพื่อนสมาชิกทุกคนช่วยกันอยู่ดูแลประชาชนต่อไปครับ ขอบคุณมากครับ” นายพิธา กล่าวทิ้งท้าย

หลังแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคก้าวไกล พูดจบ เขาได้ถอดบัตรประจำตัว ส.ส. ออกจากหน้าอกเสื้อสูท ชูขึ้น แล้ววางลงบนโต๊ะ โดยมีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่นั่งอยู่ใกล้ ๆ เดินเข้าไปจับมือกับเขา เช่นเดียวกับนายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องจาก ส.ส. ซีก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล และยังมี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย นำภาพวาดคล้าย นายพิธา ไปมอบให้ด้วย

ด้านนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวขอบคุณ นายพิธา ที่ให้ความเคารพต่อกติกาสภา เมื่อมีคำวินิจฉัยของศาลมาถึงสภา ก็เคารพต่อกติกาของสภา

ขณะที่หน้าจอของโทรทัศน์รัฐสภาได้ปรับลดยอดสมาชิกรัฐสภาเหลือ 748 คน ตั้งแต่เวลา 13.15 น. ภายหลังเอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ข้อมูลจาก https://www.bbc.com/thai/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้