สธ.จับมือภาคเครือข่ายสุขภาพดูแลประชาชนกลับบ้านปลอดภัยใส่ใจเพื่อนร่วมทางปีใหม่ 2560

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  3160 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สธ.จับมือภาคเครือข่ายสุขภาพดูแลประชาชนกลับบ้านปลอดภัยใส่ใจเพื่อนร่วมทางปีใหม่ 2560

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เตรียมพร้อมระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมดูแลประชาชนเดินทางกลับบ้านฉลองช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2560 อย่างปลอดภัย กำชับโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศเตรียมพร้อมบุคลากรกว่า 100,000 คน รถพยาบาลฉุกเฉินเกือบ 5,000 คันพร้อมให้บริการ ตลอด 24 ชั่วโมง แจ้งขอความช่วยเหลือโทร.1669 ขอความร่วมมือประชาชน“ปฏิบัติตามกฎ ดื่ม-ง่วงไม่ขับ ไม่ขับรถเร็ว สวมหมวกกันน็อค คาดเข็มขัดนิรภัย และใส่ใจผู้ร่วมทาง”

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ณ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก  ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายแพทย์ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายนภดล สันติภากรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ร่วมกันแถลงข่าว “กลับบ้านปลอดภัย ใส่ใจเพื่อนร่วมทาง ปีใหม่ 2560”



นพ.ธวัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมแถลงข่าว

นพ.ธวัช กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใย ปรารถนาให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านหรือท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ร่วมฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2559 ต้อนรับปีใหม่ 2560 กับครอบครัว ญาติมิตรอย่างมีความสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวทุกปี ซึ่งมีการเดินทางใช้รถใช้ถนนมากขึ้น ส่งผลให้มีแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การง่วง/หลับใน รวมทั้งปัจจัยที่ทำให้บาดเจ็บรุนแรงคือการไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่คาดใช้เข็มขัดนิรภัย

กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เป็นจุดประสานงานและติดตามข้อมูลช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งด้านความพร้อมการจัดระบบบริการ และการป้องกันการบาดเจ็บ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยประสานความร่วมมือโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ เช่น กระทรวงกลาโหม ทบวงมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศกว่า 1,500 แห่ง เตรียมพร้อมหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ศูนย์รับแจ้งเหตุ ระบบการดูแลรักษาในโรงพยาบาล และการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล ประชาชนแจ้งขอความช่วยเหลือที่หมายเลข 1669 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

“ขอให้ประชาชนเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง  ควรเผื่อเวลาเดินทางเพื่อไม่ต้องเร่งรีบ จากปัญหารถติด ซึ่งใช้เวลาเดินทางมากกว่าปกติถึงสองเท่า ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็ว ไม่ดื่มก่อน/ขณะขับขี่ รวมทั้งใช้อุปกรณ์ป้องกัน สวมหมวกกันน็อค คาดเข็มนิรภัย และขอให้ใส่ใจผู้ร่วมทาง โดยสังเกตคนขับรถหากพบว่าง่วงหรือเหนื่อยให้หยุดพัก เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารคันเดียวกันและผู้ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ” นพ.ธวัช กล่าว

 

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงแคมเปญรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ภายใต้ชื่อ "กลับบ้านปลอดภัย"

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมาตั้งแต่ปี 2546 ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 นี้ ได้จัดแคมเปญรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนภายใต้ชื่อ “กลับบ้านปลอดภัย” พัฒนาคลิปวิดีโอเน้นรณรงค์ผ่านสื่อออนไลน์ ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตจริงของผู้สูญเสียคนที่รักจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเปลี่ยนความโศกเศร้ามาเป็น “พลัง” ส่งต่อความห่วงใยไปยังคนรอบข้าง ในเรื่องการขับขี่ปลอดภัย ช่วยเหลือชีวิตผู้อื่นให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน ด้วยการส่งข้อความ ความห่วงใยผ่านโลกโซเชียล เพื่อร่วมรณรงค์สร้างจิตสำนึกและทัศนคติการขับขี่ปลอดภัย “ปัญหาการดื่มแล้วขับ ขับเร็ว ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยช่วงเทศกาลปีใหม่2559 ที่ผ่านมา มีถึง 73 ครอบครัวที่สูญเสียคนที่รักจากคนที่ดื่มแล้วขับ มีคนเดินถนนถูกชนเสียชีวิต 34 คนหรือคิดเป็น ร้อยละ 9 ของผู้เสียชีวิตในเทศกาลปีใหม่ ซึ่งหากขับรถชนคนเดินถนนด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. ผู้ถูกชนมีโอกาสเสียชีวิตถึงร้อยละ 85 รวมถึงการใช้สมาร์ทโฟนขณะขับขี่ ถ้าขับรถด้วยความเร็ว 100 กม./ชม. เพียงละสายตามองหน้าจอมือถือ2 วินาที หากเกิดการชนจะมีแรงปะทะเทียบเท่าการตกตึก 13 ชั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ จึงขอให้ผู้เดินทางหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เพื่อร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย” ดร.สุปรีดากล่าว

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สด ถึงมาตรการเตรียมความพร้อมช่วงเทศกาล ในรายการ" คลื่นชุมชน ถนนปลอดภัย" โดยความร่วมมือของ สมาคมสื่อช่อสะอาด และ สคอ.- สสส. ดำเนินรายการโดยนายภุชงค์ รักชาติสกุลไทยและนางสาวอรอุมา สิงห์กวาง

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป  ดำเนินการ 3 มาตรการหลัก ดังนี้

1.ด้านระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมพร้อมศูนย์สื่อสารรับแจ้งเหตุ หน่วยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินทุกระดับ ขณะนี้มีรถพยาบาลฉุกเฉินพร้อมเครื่องมือแพทย์ 4,915 คัน ถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้ง รวมทั้งให้จัดหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำบนเส้นทางถนนสายหลัก ที่มีจุดตรวจ/จุดบริการ อยู่ห่างกันมาก เพื่อให้การช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บให้รอดชีวิต และปลอดภัยมากที่สุด

2.ด้านการรักษาพยาบาล ได้เตรียมบุคลากรกว่า 100,000  คน อาทิ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สนับสนุนประจำห้องฉุกเฉินและหอผู้ป่วย ศัลยแพทย์ทุกสาขาประมาณ 1,500 คน พร้อมบริการตลอด  24 ชั่วโมง สำรองคลังเลือดทุกหมู่ อุปกรณ์ เวชภัณฑ์ยา และสำรองเตียงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีศูนย์ประสานการส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากกว่า 90 แห่ง และประสานความร่วมมือกับเครือข่ายเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ชั้นสูง เช่น เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และเครื่องตรวจอวัยวะด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อช่วยให้แพทย์ตรวจวินิจฉัย ค้นหาความผิดปกติและรักษาได้รวดเร็วที่สุด และ

3.ด้านการป้องกัน มอบให้เจ้าหน้าที่และอสม.ร่วมตั้งด่านชุมชนในพื้นที่ สกัดกั้นกลุ่มเสี่ยงเช่น เด็กขับขี่รถจักรยานยนต์ คนที่ดื่มแล้วขับ ไม่ให้ออกจากหมู่บ้าน/ชุมชน พร้อมตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ และบังคับใช้กฎหมายตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ.2555 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ที่ผ่านมา แนวโน้มการเสียชีวิตและความรุนแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 พบผู้เสียชีวิต 380 คน เสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 56 สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด มีการดื่มแล้วขับ โดยเฉพาะในวันที่ 31 ธันวาคม และ 1 มกราคมที่มีการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่  อุบัติเหตุจากสาเหตุดื่มแล้วขับจะสูงถึงร้อยละ 40  ความเสี่ยงสำคัญที่ทำให้การบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้นคือ การง่วง/หลับใน เพราะไม่มีการชะลอความเร็ว พบร้อยละ 7.3 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดบนถนนใน อบต.และหมู่บ้าน ผู้บาดเจ็บเป็นกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน มีการดื่มสุราก่อนการขับขี่ และขับขี่รถจักรยานยนต์

นายสุทนต์ กล้าการขาย นายกสมาคมสื่อช่อสะอาด และนายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผอ. สคอ. ร่วมถ่ายภาพกับนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข หลังเสร็จการสัมภาษณ์ทางวิทยุ

นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์สด ถึงมาตรการเตรียมความพร้อมช่วงเทศกาล ในรายการ "คลื่นชุมชน ถนนปลอดภัย" โดยความร่วมมือของ สมาคมสื่อช่อสะอาด และ สคอ.- สสส.

ด้านนายแพทย์สุเทพ วัชรปิยานันทน์ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขอแนะนำให้ใช้ยาหอมอินทรจักร์ ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายสดชื่น ตื่นตัว คลายจากอาการง่วงนอน และใช้ลูกอมสมุนไพรที่มีรสเปรี้ยวเช่น รสบ๊วย รสมะนาว หรือผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน นอกจากนี้ สามารถใช้การกดจุดบริเวณใบหน้าคลายง่วงด้วยตัวเองตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน 5 จุด คือ บริเวณร่องระหว่างจมูกกับปาก ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง จุดระหว่างคิ้ว จุดห่างจากหางตา 2 ซม.กับหางคิ้ว จุดบริเวณท้ายทอย และจุดกึ่งกลางระหว่างหัวไหล่ โดยกดแรงพอทนได้ ค้างไว้ 30 วินาทีแล้วคลายออก ประมาณ 5-10 รอบต่อจุด

ทั้งนี้ ในหญิงตั้งครรภ์ห้ามกดจุดกึ่งกลางระหว่างหัวไหล่ จะทำให้มดลูกบีบรัดตัว อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ส่วนยาสมุนไพรที่ควรมีติดตัวติดรถได้แก่ ยาขมิ้นชัน แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แก้ท้องเสีย ยารางจืด ถอนพิษไข้ แก้แพ้อาหาร และแพ้แมลงสัตว์กัดต่อย ยาดมสมุนไพร แก้วิงเวียนศีรษะยาหม่อง ยานวด หรือน้ำมันนวด บรรเทาอาการปวดเมื่อย และคาลาไมน์พญายอ แก้ผดผื่นคัน ผื่นแพ้ผิวหนัง เป็นต้น

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ให้สัมภาษณ์สด ถึงมาตรการเตรียมความพร้อมช่วงเทศกาล ในรายการ "คลื่นชุมชน ถนนปลอดภัย" โดยความร่วมมือของ สมาคมสื่อช่อสะอาด และ สคอ.- สสส.

นายนันทวัฒน์ โรจน์วรกุลนิธิ ผู้ประสบเหตุสูญเสียขา จากการดื่มแล้วขับ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ ข้อคิด ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ในรายการ "คลื่นชุมชน ถนนปลอดภัย"

นายนันทวัฒน์ โรจน์วรกุลนิธิ อายุ 36 ปี ผู้ประสบเหตุสูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง จากดื่มแล้วขับ เล่าย้อนหลังว่า เมื่อปี 2546 ตนเองและเพื่อนดื่มสังสรรค์และไปเที่ยวต่อ นั่นคือจุดเริ่มต้นของความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต จากการเป็นคนขับรถจักรยานยนต์และเพื่อนซ้อนท้าย ขับไปโดยไม่ใส่หมวกกันน็อกและมีอาการมึนเมา พอถึงทางโค้งและรถกำลังจะขึ้นสะพาน มีรถยนต์ได้เปลี่ยนเลนกะทันหัน ทำให้ชนเข้าอย่างจัง ไม่สามารถควบคุมรถได้เพราะขับเร็วและดื่มร่วมด้วย แรงประทะทำให้ตนเองกระเด็นลอยข้ามเกาะกลางถนนและสลบคาที่  ส่วนเพื่อนที่ซ้อนท้ายมาด้วยนั้นทราบภายหลังว่าเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุ     


“ตอนนั้นคิดว่าไปไหว คิดว่าไม่เมา และกำลังสนุก จึงคิดจะไปเที่ยวต่อ เพียงเสี้ยววินาทีที่ไม่คาดคิดก็เกิดการชนอย่างแรง ฟื้นมาเห็นตัวเองถูกตัดขาทั้ง  1 ข้างไปแล้ว กลายเป็นผู้พิการ รับไม่ได้กับสภาพที่เห็น ทบทวนเหตุการณ์อยู่นานแทบทรุด คิดว่าทำไมไม่ตายไปเลยทำไมต้องคนพิการแบบนี้ ตอนนั้นสลบไป 1 เดือนและนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล 6 เดือน ช่วงกลับไปฟักฟื้นที่บ้านก็คิดสั้นฆ่าตัวตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่รับไม่ได้กับเรื่องที่เกิดขึ้น”

นายนันทวัฒน์ กล่าวต่อว่า เหตุการณ์และความสูญเสียครั้งนั้น ทำให้ครอบครัวต้องขายทรัพย์สินทุกอย่างที่มีเพื่อนำเงินมารักษา จึงคิดไม่อยากอยู่เป็นภาระให้ใคร  พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง และคิดผูกคอตายกับตู้เสื้อผ้า แต่ไม่สำเร็จ แม่กลับมาเจอพอดี เข้าไปช่วยเหลือทันและต่อว่ารุนแรง  แม่บอกว่าทำไมทำแบบนี้ ไม่รักตัวเอง ไม่รักแม่และครอบครัวแล้วหรือ แม่ยอมขายทุกอย่างเพื่อรักษาชีวิตลูก แต่ทำไมลูกไม่คิดที่รักษาชีวิตตัวเองไว้ พอได้ยินแม่พูดจึงมีสติมากขึ้น ทุกวันนี้แม่และครอบครัวคือกำลังใจสำคัญที่สุดที่ทำให้เข้มแข็ง สามารถต่อสู่กับอุปสรรคและเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นได้โอกาสมีเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิตอย่างเพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน  ต่างจากตัวเราทั้งๆที่มีความสามารถไม่ด้อยกว่าใคร แต่กลับไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่หวัง เพียงเพราะการดื่มแล้วไปขับในวันนั้น  ทำให้ความหวัง ความฝัน ทั้งหมดพังทลายลง  และไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้อีกเลย 

จึงขอฝากว่าในเทศกาลปีใหม่นี้ ขอให้ทุกคนลด ละ เลิก การดื่ม เพราะการดื่มแล้วไปขับรถ การขับเร็ว เป็นสาเหตุแห่งความสูญเสีย นำไปสู่การบาดเจ็บ พิการและเสียชีวิต อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม เกิดจากการกระทำที่ประมาทและขาดสติ… 

นายภุชงค์ รักชาติสกุลไทย จากสมาคมสื่อช่อสะอาด และนางสาวอรอุมา สิงห์กวาง จากสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ร่วมดำเนินรายการ "คลืนชุมชน ถนนปลอดภัย" ถ่ายทอดสดพิธีการแถลงข่าว "กลับบ้านปลอดภัย ใส่ใจเพื่อร่วมทาง ปีใหม่ 2560" ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธาณสุข

สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) และสมาคมสื่อช่อสะอาด รวมพลังด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และถ่ายทอดพิธีการแถลงข่าวฯ

ด้านนพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค เน้นการทำงานเชิงรุก ร่วมกับสำนักงานควบคุมโรค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ก่อนเทศกาล และในช่วงเทศกาลเข้มข้นการบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต้องห้าม คือสถานที่ราชการ ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ รวมทั้งการขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี จัดทีมเจ้าหน้าที่ให้ทำการสุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย มีทีมจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกตรวจเตือนสถานประกอบการ ร้านค้าตลอดช่วงเทศกาล นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ไม่จัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับสินค้าอื่นในกระเช้าปีใหม่ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งส่งเสริมให้มีกิจกรรม“สวดมนต์ข้ามปี” ส่งผลให้ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลอง จัดงาน count down ตามสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก


ทั้งหมดก็เพื่อสกัดอุบัติเหตุปีใหม่นั่นเอง!!!

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้