เปิดฉากสัมมนาระดับชาติ ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่13 "ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน"

Last updated: 12 ธ.ค. 2560  |  2666 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เปิดฉากสัมมนาระดับชาติ ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่13 "ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน"

มหาดไทยยืนยันรัฐบาลเร่งพัฒนาเพิ่มการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนน

        วันที่ 6 ธันวาคม 2560 ที่ห้อง MR216 ศูนย์นิทรรศการและประชุมไบเทค บางนา จัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน กรมขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐภาคเอกชน ร่วมจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด "ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน" ในระหว่างวันที่ 6-7 ธันวาคมนี้


        โดย นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า การป้องกันและลดความสูญเสียจากการอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่รัฐบาลตระหนัก ถือเป็นในนโยบายที่ได้ประกาศไว้ตามแผน "ทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554-2563" เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ทางรัฐบาลจะจะเร่งพัฒนาและเพิ่มการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืนในเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญ เพื่อไปสู่เป้าหมายแห่งการสร้างถนนปลอดภัย ได้แก่

  1. สนับสนุนกลไกศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ระดับจังหวัด อำเภอ
  2. ปรับปรุงระเบียบงบประมาณของ ศปถ.อปท. 
  3. ให้กระทรวงแรงงาน เพิ่มบทบาทเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.)
  4. เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย
  5. ส่งเสริมความปลอดภัยใยกลุ่มเสี่ยงหลัก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน และคนเดินถนน
  6. ให้เด็กมีการเรียนรู้เรื่องความปลอดทางถนน
  7. สนับสนุนให้มีกลไกการสอบสวนสาเหตุ การติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ

        รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวย้ำถึงสิ่งที่รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญนำที่จะนำไปสู่เป้าหมายการสร้างถนนปลอดภัย เช่น การสนับสนุนกลไกศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน ที่จะลงลึกไปในระดับพื้นที่ คือ อำเภอและท้องถิ่นมากขึ้น รวมเข้าไปดูแลปัจจัยต่าง ๆ ในการบริหารโดยใช้วิธีการที่เหมาะสมให้ท้องถิ่น สามารถทำงานด้านความปลอดภัยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

        ทั้งนี้ ยอมรับว่า การป้องกันอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่เชื่อมั่นว่าหากทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกันจะสามารถควบคุม การเกิดอุบัติเหตุให้ลดลงหรืออยู่ในระดับที่ดีได้

        นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำในเรื่องของการรณรงค์มาตรการ 4 ห้าม 2 ต้อง ได้แก่ การห้ามขับรถเร็ว ห้ามดื่ม/เมาแล้วขับ ห้ามง่วงแล้วขับ ห้ามโทรแล้วขับ และต้องคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถ รวมถึงต้องสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2563 ตามเป้าหมายที่ไทยได้ให้ไว้กับปฏิญญามอสโก รวมไปถึงการให้ความสำคัญในการปลูกฝังและอบรมให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และตระหนักในเรื่องของความปลอดภัยทางท้องถนน เพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ

        ขณะเดียวกัน  นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน สถานการณอุบัติเหตุทางถนน ถือเป็นปัญหาสำคัญของโลก โดยแต่ละปีมีผู้คนทั่วโลกกว่า 1.3 ล้านต้องจบชีวิตลง และอีกกว่า 50 ล้านคนได้รับบาดเจ็บ จนองค์การสหประชาชาติกำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งการปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เพื่อให้ประเทศสมาชิกร่วมกันกำหนดมาตรการที่เหมาะสม เพื่อลดอัตราผู้เสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง


        ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงติดอันดับต้นๆ ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอถบัติเหตุ โดยตัวเลขเสียชีวิตจากข้อมูลใบมรณะบัตรเฉลี่ย 14,000 - 15,000 คน/ปี เฉลี่ยวันละ 40-50 คน และเมื่อตรวจสอบข้อมูล 3 ฐาน (มรณบัตร ตำรวจ และประกันภัย) จึงพบว่ายอดเสียชีวิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 หรือเฉลี่ย 20,000 ราย/ปี โดยมีมูลค่าความสูญเสียถึง 5 แสนบาท หรือ 6% GDP การสัมมนาในครั้งนี้ จึงต้องการเน้นย้ำความสำคัญในเรื่องการลงทุนผ่านเสาหลักต่างๆ และสอดคล้องกับทิศทางเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของระบบบริหารจัดการการบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญคือมีแนวทางและแผนงานในการลงทุนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยบนนถนนที่ยั่งยืน


        นอกจากนี้ ภายในงานดังกล่าวยังมีการจัดพิธีมอบโล่และประกาศเกียรติคุณ แก่สื่อมวลชนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพสื่อด้านความปลอดภัยทางถนน Road Safety Journalism Fellowship : Slow Speed Save Life ในปี2559 (รุ่นที่ 1) และปี 2560 (รุ่นที่ 2)  ทั้ง 2 รุ่น จำนวน 32 คน และองค์กรต้นสังกัด 17 องค์กร  ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.), องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.), World Health Organization (WHO),Bloomberg Philanthropies, สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.), ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และภาคีเครือข่าย


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้