พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ. ‘ก’ แจ้งข้อกล่าวหาคดีเช็คไม่ครบถ้วน Ep15

Last updated: 15 มี.ค. 2564  |  2329 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต ร.ต.อ. ‘ก’ แจ้งข้อกล่าวหาคดีเช็คไม่ครบถ้วน Ep15

นาย ก. ขณะมียศร้อยตำรวจเอกในฐานะพนักงานสอบสวนคดีที่ นาย ว. ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 จำนวน 2 คดี คดีแรกสั่งจ่ายเงิน 500,000 บาท คดีที่สองสั่งจ่ายเงิน 2,000,000 บาท โดยทั้ง 2 คดี มีนาย พ. เป็นผู้เสียหาย เมื่อนาย ก. จับกุมผู้ต้องหาได้ นาย ก. สอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 2 คดี แต่ดำเนินคดีและนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังเฉพาะคดีแรก ซึ่งมีจำนวนเงินในเช็คน้อย โดยไม่ระบุในคำร้องฝากขังให้ศาลทราบว่าผู้ต้องหายังตกเป็นผู้ต้องหาคดีอื่นอีก

พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 15 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. ในสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายของตัวอย่างคดีทุจริตในหมวดการทุจริตช่วยเหลือผู้กระทำความผิดจะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)

@ แจ้งข้อกล่าวหาและส่งตัวผู้ต้องหาไม่ครบถ้วน

ข้อเท็จจริง นาย ก. ขณะมียศร้อยตำรวจเอกในฐานะพนักงานสอบสวนคดีที่ นาย ว. ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 จำนวน 2 คดี คดีแรกสั่งจ่ายเงิน 500,000 บาท คดีที่สองสั่งจ่ายเงิน 2,000,000 บาท โดยทั้ง 2 คดี มีนาย พ. เป็นผู้เสียหาย เมื่อนาย ก. จับกุมผู้ต้องหาได้ นาย ก. สอบปากคำผู้ต้องหาทั้ง 2 คดี แต่ดำเนินคดีและนำตัวผู้ต้องหาไปฝากขังเฉพาะคดีแรก ซึ่งมีจำนวนเงินในเช็คน้อย โดยไม่ระบุในคำร้องฝากขังให้ศาลทราบว่าผู้ต้องหายังตกเป็นผู้ต้องหาคดีอื่นอีก กับไม่คัดค้านการประกันตัวและไม่ขออายัดตัวผู้ต้องขังต่อผู้บัญชาการเรือนจำ เนื่องจากนาย ก. ได้แถลงต่อศาลขอนำตัวผู้ต้องหาขังที่ สน.หัวหมาก ต่อมาเมื่อสอบสวนเสร็จทั้ง 2 คดี ผู้ถูกกล่าวหากลับส่งสำนวนคดีแรกให้พนักงานอัยการเพียงคดีเดียว โดยไม่แจ้งให้พนักงานอัยการทราบว่านาย ว. ตกเป็นผู้ต้องหาอีกคดีหนึ่ง เป็นเหตุให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาเพียงคดีเดียว ซึ่งผู้ต้องหาได้ยื่นขอประกันตัวและหลบหนีประกันในชั้นศาลไม่สามารถนำตัวมาลงโทษจนถึงปัจจุบัน การกระทำของนาย ก. จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) และเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

@ กระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้ต้องคุมขังหลบหนี

ข้อเท็จจริง จ่าสิบตำรวจ ก. ปฏิบัติหน้าที่สิบเวรควบคุมผู้ต้องหา สภ.ต. ภ. ได้นำตัวผู้ต้องคุมขังรายหนึ่งซึ่งถูกคุมขังตามอำนาจศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 (ยาบ้า) จำนวน 40,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายออกจากห้องควบคุม เพื่อให้ทำความสะอาดอาคารสถานีตำรวจภูธรตำบล ภ. โดยไม่ได้ขออนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วปล่อยผู้ต้องคุมขังรายนี้ไว้ตามลำพัง ไม่ระมัดระวังควบคุมดูแลเพื่อป้องกันการหลบหนี เป็นเหตุให้ผู้ต้องคุมขังรายนี้หลบหนีไป

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของจ่าสิบตำรวจ ก. มีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 204

@ ปลอมแปลงเอกสารและช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้รับโทษหรือรับโทษน้อยลง

ข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธร ได้จับกุมนาย ว. ผู้ต้องหาพร้อมของกลางยาเสพติด นำส่งพันตำรวจตรี ก. ซึ่งทำหน้าที่ร้อยเวร ได้ปลอมเอกสารคำให้การของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุมผู้ต้องหา แล้วส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัด โดยไม่ผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับขั้น จนพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี การกระทำของพันตำรวจตรี ก. เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้ราชการไม่ได้รับความเสียหาย และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ช่วยเหลือผู้ต้องหาให้ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่กระทำการปลอมเอกสาร

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของพันตำรวจตรี ก. เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 200

@ เรียกรับเงินเพื่อไม่นำส่งผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน

ข้อเท็จจริง จ่าสิบตำรวจ ก. และสิบตำรวจตรี ข. มีอำนาจหน้าที่สืบสวน จับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมาย ได้ร่วมจับกุมนาย ค. พร้อมของกลางเป็นซีดีลามก และจ่าสิบตำรวจ ก. และสิบตำรวจตรี ข. ไม่นำผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานส่งพนักงานสอบสวนท้องที่ที่เกิดเหตุ แต่เรียกรับเงินจากผู้ต้องหา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการไม่ส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางไปดำเนินคดี และจะคืนของกลางให้ โดยนาย ค. ได้โทรหานางสาว จ. เพื่อขอยืมเงิน นางสาว จ. เมื่อทราบเรื่องได้ติดต่อกับ พันตำรวจตรี ธ. เพื่อร้องเรียน และวางแผนจับกุม โดยให้นางสาว จ. ขอต่อรองลดจำนวนเงินจากจ่าสิบตำรวจ ก. และสิบตำรวจตรี ข. ซึ่งทั้งสองยินยอม แต่มีเงื่อนไขต้องส่งตัวผู้ต้องหาไปดำเนินคดีและให้เปลี่ยนตัวผู้ต้องหาเป็นบุคคลอื่นพร้อมลดจำนวนของกลาง หลังจากนางสาว จ. ส่งมอบเงิน จ่าสิบตำรวจ ก และสิบตำรวจตรี ข. ได้ปล่อยตัวนาย ค. พร้อมของกลางบางส่วน และนำตัวนาย ง. มาเปลี่ยนตัว ส่งพนักงานสอบสวนท้องที่ โดยขณะเดินทางจ่าสิบตำรวจ ก. และสิบตำรวจตรี ข. ถูกตำรวจเข้าตรวจค้นพบธนบัตรตามที่นางสาว จ. เข้าแจ้งความและลงบันทึกประจำวันไว้

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของจ่าสิบตำรวจ ก. และสิบตำรวจตรี ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม มาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสอง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2521 มาตรา 45 และมาตรา 61 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (12) และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 157 และมาตรา 200 ประกอบมาตรา 83

@ ไม่ดำเนินคดีกับผู้ต้องหา

ข้อเท็จจริง ร้อยตำรวจเอก ก. ขณะปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวน ได้รับแจ้งว่ามีอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนคน จึงออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุพร้อมทั้งบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและนำรถจักรยานยนต์คันที่เกิดเหตุไปเก็บไว้ที่สถานีตำรวจภูธร แต่ไม่ได้จัดให้มีการลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามอำนาจหน้าที่ ต่อมาญาติผู้เสียหายไปแจ้งความกล่าวโทษให้ดำเนินคดี ร้อยตำรวจเอก ก. ก็มิได้จัดให้มีการบันทึกคำกล่าวโทษ ทั้งที่ทราบดีว่าคดีดังกล่าวมีผู้ได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาได้มีการสอบปากคำพยานและให้คู่กรณีเจรจาเรียกร้องค่าเสียหายแต่ตกลงกันไม่ได้ ร้อยตำรวจเอก ก. ก็มิได้จัดทำสำนวนคดีดังกล่าว ต่อมาร้อยตำรวจเอก ก. ได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่อื่น ก็มิได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานที่ดำเนินการเกี่ยวกับอุบัติเหตุหรือรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ การกระทำของร้อยตำรวจเอก ก. แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะไม่รับคดีอุบัติเหตุไว้ดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของร้อยตำรวจเอก ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยตำรวจ พ.ศ. 2477 มาตรา 5 (3) และ (12) และเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักข่าวอิศรา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้