พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต 3 จนท.กองสลาก ร่วมโกงล็อครางวัลที่ 1 Ep20

Last updated: 16 มี.ค. 2564  |  1661 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริต 3 จนท.กองสลาก ร่วมโกงล็อครางวัลที่ 1 Ep20

ได้ลงนามในหนังสือของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถึงผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน ขอความร่วมมือตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนตลับภาชนะพลาสติกทึบแสง โดยมีข้อความว่า “เฉพาะตลับที่มีรอยสึกหรอมากที่สุด” ทั้งที่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสอบรอยคราบสีขาวที่เปื้อนติดอยู่ที่ตลับบรรจุลูกบอลหมายเลข 1 ทั้งสามลูกอันมีลักษณะเป็นการปกปิดวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบที่แท้จริง

พลิกแฟ้มมติ ป.ป.ช.ฟันทุจริตคดีดังในอดีต ที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 20 เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนำไปใช้เป็นแนวทาง ในการตรวจสอบคดีทุจริตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ว่า รูปแบบพฤติการณ์การทุจริต รวมไปถึงข้อกฎหมายสำคัญที่ใช้ในการตัดสินคดีของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดเป็นอย่างไร ในสัปดาห์นี้ เป็นตัวอย่างคดีทุจริตในหมวด การพิจารณาหรือดำเนินการขัดต่อระเบียบกฎหมาย ผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชนจะมีคดีสำคัญอะไรบ้างไปติดตามกันได้เลย (การเผยแพร่ข้อมูลระบุชื่อผู้เกี่ยวข้อง เป็นตัวอักษรย่อ เพื่อปกป้องสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา เพราะบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล)

@ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล

ข้อเท็จจริง นาย ก. มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุม ดูแล การออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ได้รับทราบพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลจำนวน 3 คน ซึ่งมิใช่เป็นบุคคลที่ประธานกรรมการออกรางวัลฯ เสี่ยงหยิบหางบัตรเพื่อเข้าร่วมในการออกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว รางวัลเลขท้าย 2 ตัว และรางวัลที่ 1 ที่แท้จริง และได้รับทราบพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวว่ามีพฤติการณ์ผิดปกติ คือ มีการชะโงกดู และก้มมองตลับบรรจุลูกบอลหมายเลขในภาชนะพลาสติกทรงกลม และมีพฤติการณ์ทุจริตในการจับลูกบอลออกรางวัล แต่กลับนิ่งเฉย โดยมิได้ทักท้วงและรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อวินิจฉัยสั่งการ นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์บิดเบือนข้อเท็จจริง ปกปิดการกระทำผิด และทำลายหลักฐาน โดยทำความสะอาดตลับบรรจุลูกบอลหมายเลข 1 จำนวน 3 ลูก ที่เปื้อนคราบสีขาวคล้ายแป้งอันเกิดจากการกระทำทุจริตในการออกรางวัลก่อนที่จะส่งให้กองพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบ อันมีลักษณะพฤติการณ์ร่วมกับกลุ่มบุคคลภายนอกข้างต้นกระทำความผิดมาตั้งแต่ต้น โดยมีการวางแผนแบ่งแยกหน้าที่ในการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนตามภาระหน้าที่ของแต่ละคนอันเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันมา

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานและลูกจ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2521 ข้อ 37 (3) และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 และฐานเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184

ข้อเท็จจริง นาย ข. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการพิมพ์และได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการควบคุม ดูแล รักษาและใช้เครื่องออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล มีหน้าที่ตรวจรับหมายเลขหางบัตรและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เข้าชมการออกรางวัลที่ได้รับการจับหางบัตรหมายเลขขึ้นมาร่วมออกรางวัลกับกรรมการที่ประธานกรรมการออกรางวัลฯ กำหนดไว้ พร้อมทั้งบันทึกหลักฐานและลงนามกำกับความถูกต้อง และยังมีหน้าที่ควบคุม ดูแล และสั่งการเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานออกรางวัลสลาก ในแต่ละงวดตามสายงานที่รับผิดชอบ และหรือควบคุมดูแลทั่วไปภายในห้องออกรางวัลสลาก ในวันที่มีการออกรางวัลสลากกินแบ่ง ได้มอบหมายให้นางสาว ช. ซึ่งเป็นกรรมการควบคุม ดูแล เก็บรักษาและใช้เครื่องออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นผู้ตรวจสอบหางบัตร ต้นขั้วบัตร และบัตรประจำตัวประชาชนของประชาชนที่ประธานกรรมการออกรางวัลฯ เสี่ยงหยิบหางบัตรฯ เพื่อให้เข้าร่วมในการออกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว รางวัลเลขท้าย 2 ตัว และรางวัลที่ 1 จำนวน 3 คน

เมื่อนางสาว ช. ตรวจพบว่ากลุ่มบุคคลที่ขึ้นไปร่วมออกรางวัลเลขท้าย 3 ตัว รางวัลเลขท้าย 2 ตัว และรางวัลที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของชิ้นส่วนบัตรสำหรับผู้เข้าชมหรือเข้าร่วมในการออกรางวัลฯ ที่ประธานกรรมการออกรางวัลฯ เสี่ยงหยิบได้ที่แท้จริง จึงแจ้งนาย ข. ทราบถึงเหตุดังกล่าว แต่นาย ข. กลับไม่ดำเนินการใดๆ อีกทั้งยังจะต้องรายงานให้ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทราบในทันที เนื่องจากเป็นการพบเห็นสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นที่อุปกรณ์ที่ใช้ในการออกรางวัลฯ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน แต่นาย ก. เพียงใช้นิ้วปาดบริเวณคราบสีขาวที่ติดอยู่ดังกล่าว และพูดว่าเป็นเพียงรอย ขีดข่วน แม้จะมีพนักงานยืนยันถึงความผิดปกติอีกครั้ง นาย ก. ยังคงบอกว่าอาจจะเป็นฝุ่น อันเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงและมีลักษณะใช้ตำแหน่งหน้าที่ที่สูงกว่าเข้าข่มพนักงานชั้นผู้น้อยที่พบเห็นรอยคราบสีขาวไม่ให้แพร่งพรายต่อไป ยังผลให้กลุ่มบุคคลทั้งสามสามารถกระทำการทุจริตล็อกเลขหรือกำหนดเลขท้ายของรางวัลที่ 1 ให้มีหมายเลขตามที่ต้องการได้เป็นผลสำเร็จ อีกทั้งยังไม่แสดงความจำเป็นเร่งด่วนหรือยืนยันให้มีการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกรางวัลฯ โดยเร็ว

และเมื่อมีการตรวจพบรอยคราบสีขาวเปื้อนติดที่ตลับบรรจุลูกบอลหมายเลข 1 และที่ภาชนะพลาสติกทรงกลม กลับสั่งให้ทำความสะอาดภาชนะพลาสติกทรงกลมที่เปื้อนรอยคราบสีขาวนั้นโดยพลการ โดยมิได้รายงานให้ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือผู้บังคับบัญชาทราบก่อน มิได้ร่วมจัดทำบันทึกการตรวจสอบ ไม่เร่งรัดติดตามตลับบรรจุลูกบอลหมายเลข 1 จำนวน 3 ลูก ที่เปื้อนรอยคราบสีขาว ทำให้พยานหลักฐานสำคัญที่จะใช้พิสูจน์ความผิดของผู้กระทำผิดต้องถูกทำลายไป แม้จะมีการบันทึกภาพเก็บไว้ก็เป็นที่เห็นได้ในเวลาต่อมาว่ามีการปกปิดไม่นำเทปบันทึกภาพการตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกรางวัลฯ เสนอให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่เกี่ยวของทราบ

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ข. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานและลูกจ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2521 ข้อ 37 (3) และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 และฐานเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 184

ข้อเท็จจริง นาย ค. ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามวันและเวลาเกิดเหตุ ที่มีการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้อยู่ปฏิบัติงานที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเข้ารับการปฐมนิเทศตามหลักสูตรการเมืองการปกครองของสถาบันพระปกเกล้าที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ได้รับรายงาน และทราบมาโดยตลอดว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกรางวัลดังกล่าวมีรอยคราบสีขาวเปื้อนติดอยู่ที่ตลับบรรจุลูกบอลหมายเลข 1 แต่มิได้มีการดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว และมิได้รายงานให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้รับทราบถึงข้อพิรุธดังกล่าว แต่กลับรายงานว่าไม่พบความผิดปกติ นอกจากนี้ยังได้ลงนามในหนังสือของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถึงผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน ขอความร่วมมือตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนตลับภาชนะพลาสติกทึบแสง โดยมีข้อความว่า “เฉพาะตลับที่มีรอยสึกหรอมากที่สุด” ทั้งที่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีความประสงค์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองพิสูจน์หลักฐาน ตรวจสอบรอยคราบสีขาวที่เปื้อนติดอยู่ที่ตลับบรรจุลูกบอลหมายเลข 1 ทั้งสามลูกอันมีลักษณะเป็นการปกปิดวัตถุประสงค์ในการตรวจสอบที่แท้จริง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ค. เป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ ตามข้อบังคับว่าด้วยระเบียบพนักงานและลูกจ้างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2521 ข้อ 37 (3) และเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 และฐานเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสียหรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ ซึ่งพยานหลักฐานในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 184

การกระทำของกลุ่มบุคคลที่ร่วมกับนาย ก. นาย ข. และนาย ค. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต โดยมีการวางแผนแบ่งแยกหน้าที่ในการดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอนในลักษณะความผิดเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และกลุ่มบุคคลดังกล่าวศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนฐานฉ้อโกงกรณีล็อคเลขรางวัลที่ 1

@ ไม่ดำเนินการคัดค้านหรือทักท้วงเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย

ข้อเท็จจริง ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัท A โดยมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นผู้บริหารแผน ภายหลังศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทเอกชนดังกล่าวพ้นจากการเป็นผู้บริหารแผน และตั้งให้คณะผู้บริหารลูกหนี้เป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวร่วมกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

หลังจากนั้นศาลล้มละลายกลางเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งและไม่ไว้วางใจกันอย่างรุนแรง เชื่อว่าคงเป็นการยากที่จะบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท A ให้เป็นไปด้วยความราบรื่น เนื่องจากผู้บริหารแผนคนใหม่ที่มาจากการประชุมของเจ้าหนี้ขาดการยอมรับจากลูกหนี้ และพนักงานของลูกหนี้เป็นส่วนใหญ่ ในเมื่อมีความชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลมีดำริที่จะร่วมมือกับศาลยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาของลูกหนี้อย่างบูรณาการเบ็ดเสร็จ โดยกระทรวงการคลังได้เสนอเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ จึงเห็นเป็นการสมควรที่จะขอให้กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้ ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งต่อกระทรวงการคลังเพื่อขอหนังสือยินยอมเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ สำนักฟื้นฟูกิจการจึงได้มีหนังสือสอบถามกระทรวงการคลังเพื่อขอหนังสือยินยอมการเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่

กระทรวงการคลัง โดยนาย ก. ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือแจ้งว่ายินยอมเข้าเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ และขอเสนอรายชื่อตัวแทนของกระทรวงการคลังในการบริหารแผน ซึ่งศาลล้มละลายกลางก็ได้มีคำสั่งว่า เมื่อที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเลือกกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ จึงเห็นสมควรตั้งกระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้

ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งว่า ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการตามแผนจนครบถ้วนแล้ว ประกอบกับกิจกาของลูกหนี้มีสถานะมั่นคง ผลประกอบการมีรายได้และกำไรสม่ำเสมอสามารถประกอบกิจการด้วยตนเองได้แล้ว ถือได้ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้

จากข้อเท็จจริงข้างต้น มีประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ

1) นาย ก. ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตกรณียินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของบริษัท A หรือไม่ อย่างไร

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กระทรวงการคลังเป็นส่วนราชการตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มีหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่มีหน้าที่บริหารกิจการของเอกชน การที่นาย ก. ยินยอมให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนของบริษัท A จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

2) นาย ข. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารราชการแผ่นดิน ได้รู้เห็นหรือทราบเรื่องที่กระทรวงการคลังยินยอมเข้าเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่ของบริษัท A ตามที่ศาลล้มละลายกลางร้องขอ แต่ไม่คัดค้านหรือทักท้วงเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตหรือไม่ อย่างไร

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อนาย ก. ได้มาปรึกษานาย ข. เรื่องที่จะให้กระทรวงการคลังเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการขอบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน นาย ข. ได้เห็นชอบและเสนอชื่อบุคคลจำนวน ๒ ราย เป็นคณะผู้บริหารแผนและภายหลังกระทรวงการคลังได้ยินยอมเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการอันเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ตามมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ การกระทำของนาย ข. จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. และ นาย ข. เป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

@ ทุจริตอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินโดยมิชอบ

ข้อเท็จจริง นาย ก. ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงิน มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแล พิจารณากลั่นกรองงานด้านสินเชื่อฝ่ายภูมิภาค และภรรยา ได้รวบรวมและจัดซื้อที่ดินแล้วจัดทำเป็นโครงการ โดยแยกที่ดินออกเป็นหลายโฉนดและให้ผู้อื่นถือกรรมสิทธิ์แทนตนและภรรยา จำนวน 8 ราย เข้าขอกู้เงินสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยนาย ก. ร่วมกับพนักงานที่ทำหน้าที่ให้บริการสินเชื่อแก่ลูกค้า พิจารณากลั่นกรองและวิเคราะห์การให้สินเชื่อ เสนอลงนามอนุมัติ ต่อมาได้นำบุคคลซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยที่ซื้อบ้านของโครงการยื่นเรื่องขอกู้เงินสินเชื่อ และได้รับการอนุมัติ โดยการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ คำสั่ง ของสถาบันการเงิน โดยหลีกเลี่ยงไม่พิจารณาการขอสินเชื่อในลักษณะเป็นโครงการจัดสรร แต่พิจารณาเป็นรายย่อยแทนเพื่อให้ลูกค้าทุกรายในโครงการสามารถกู้เงินได้ เนื่องจากโครงการมีหนี้ค้างชำระเกินกว่าที่ธนาคารกำหนด อีกทั้งยังมีการประเมินราคาหลักทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริง

มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. การกระทำของนาย ก. เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 และการกระทำของภรรยา และผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้ง 8 คน เป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 มาตรา 9 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักข่าวอิศรา

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้