Last updated: 28 พ.ย. 2565 | 2980 จำนวนผู้เข้าชม |
Kick off ประวัติศาสตร์ล้านนา ทรงคุณค่านครพิงค์ “ตวยผ่อเรื่องม่ะเก่า” ณ ลานฉำฉา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นำทีม One Team สพฐ. (สวก. สทศ. สบน. สบว.และ ศนฐ.) ขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ในพื้นที่ 8 จังหวัดประวัติศาสตร์ล้านนา ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ พะเยา ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 - เขต 6 ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครูจากพื้นที่ 8 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ล้านนา และนักเรียนจาก 9 โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ รวม 300 คน
กิจกรรมดำเนินงาน ประกอบด้วย การส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นสำคัญในทุกมิติ ดังนี้
1) การส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ ปวศ. ของ ศน. และครู กิจกรรมค่าย Young Historians ของนักเรียน และการศึกษา ปวศ. ผ่านแหล่งเรียนรู้รอบคูเมืองเชียงใหม่
2) การเสวนาและถ่ายทำวิดิทัศน์ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ดังนี้ การนำพระราชปณิธาน สู่การจัดการเรียนการสอนยุพราชศึกษา โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ห้องเรียนชุมชนทางประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ที่หลากหลาย การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์สร้างมูลค่าชุมชนบนพื้นที่สูง การสืบสานพระราชปณิธานพระราชชายาเจ้าดารารัศมี สู่การสร้างเอกลักษณ์โรงเรียน
3) การจัดนิทรรศการการจัดการเรียนการสอนที่เป็น Best Practice ในการจัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ของโรงเรียน จำนวน 9 แห่ง คือ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย โรงเรียนแม่แจ่ม โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม โรงเรียนฝางชนูปถัมถ์ โรงเรียนสันกำแพง โรงเรียนแม่ริมวิทยาคมโรงเรียนมัธยมกัลยานิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ และโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ
รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การจัดนิทรรศการของโรงเรียนในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอตัวอย่างของกิจกรรมในงานนิทรรศการ เช่น การประกวดนิยายเกี่ยวกับวัฒนธรรม การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงการเป็นฐาน การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย การจัดการเรียนรู้การสอนที่เน้นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ การสอนประวัติศาสตร์ด้วยสื่อบอร์ดเกม Podcast การจัดการเรียนการสอนโดยใช้แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เช่น พิพิธภัณฑ์ ภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นต้น
ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวเน้นย้ำถึงผู้บริหาร และครูผู้สอนในการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เน้นที่การพัฒนานักเรียนให้เป็นคนเก่ง คนดี ด้วยการจัดกิจกรรมเชิงรุก (Active Learning) การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ไม่ใช่แค่การจดจำ หรือท่องจำเรื่องเล่า/เรื่องราวในอดีต แต่ให้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวทางวัฒนธรรมจากอดีตถึงปัจจุบัน ที่สะท้อนรากเหง้า ความมา ของชุมชน ท้องถิ่น ประเทศชาติ โดยให้มีความรัก หวงแหน และภาคภูมิใจ การจัดการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ถือเป็นการบ่มเพาะคุณลักษณะที่ดีและเป็นการสืบสานวัฒนธรรมให้เกิดกับนักเรียน ให้มีการส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่
"ขอชื่นชมถึงคุณภาพของนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรม โดยนักเรียนได้แสดงออกถึงความภาคภูมิใจ รู้คุณค่าทางประวัติในท้องถิ่นตนเอง สามารถถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของจังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างลึกซึ้ง" ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวช่วงท้าย